วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเลือกซื้อบ้านมือสอง ต้องดูอะไรบ้าง

การเลือกซื้อบ้านมือสอง ต้องดูอะไรบ้าง

ในการเลือกซื้อนั้นต้องดูอะไรบ้าง จุดไหนสำคัญ จุดไหนควรระวัง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผมนึกถึงกรรมวิธีการเลือกซื้อบ้านมือสอง ซึ่งคงมีหลายท่าน กำลังจะตัดสินใจที่จะเลือกซื้ออยู่เป็นแน่ และการเลือกซื้อบ้านมือ สองเองก็มีความคล้ายคลึงกับการเลือกซื้อรถมือสองที่ ผมได้มีโอกาสอ่านใบโฆษณาเชิญชวนมา เจ้าของที่ขายสินค้าย่อมโฆษณาถึงเฉพาะข้อดีของสินค้าโดยไม่กล่าวถึงข้อเสีย หรืออาจจะกล่าวถึงแต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นหากหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนการเลือกซื้อ บ้านก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยครับ

ขั้นตอนแรก ควรสอบถามประวัติของบ้านจาก เจ้าของเดิมให้เรียบร้อยเสียก่อน เช่น สร้างเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง ผู้ที่ทำการก่อสร้างนั้นมีที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ในปัจจุบันหรือไม่ มีใบอนุญาตก่อสร้างหรือไม่ มีแบบก่อสร้างหรือพิมพ์เขียวที่ถูกต้องหรือไม่ และอาจสอบถามจากเพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกันเกี่ยวกับบ้านที่เลือกซื้อ เช่น ประวัติของเจ้าของบ้านเดิม หรือ เรื่องราวที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนั้นว่าดีหรือ ไม่ดีเพื่อความเป็นอยู่ที่สุข สบายของท่านและบรรดาสมาชิกในบ้านของท่านในอนาคตด้วยครับ

ขั้นตอนที่สอง เป็นการตรวจสอบด้วยสายตาของท่านเองซึ่งมองจากภาพกว้าง ๆ โดยรอบไปสู่ความละเอียดถี่ถ้วนในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่

- สภาพแวดล้อมรอบ ๆ บ้าน เช่น บ้านตั้ง อยู่บริเวณที่ลุ่ม น้ำสามารถท่วมขังได้หรือมีมลภาวะจากเสียง แสง และกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือไม่ มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้หรือเปล่าต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น
- สภาพโดยรวมของตัวบ้าน ซึ่งการสร้างบ้านที่ ดีนั้นควรอยู่ในแนวดิ่ง ไม่เอียง คานและพื้นไม่แอ่นตัวมากจนเห็นได้ชัด มีร่องรอยการซ่อมแซมหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจอาจจำเป็นต้องหาสถาปนิกและวิศวกรในแขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาช่วยตรวจสอบ
- ตรวจสอบสภาพรอยร้าวในผนังบ้านเกิด ในลักษณะใด เป็นแบบแตกลายงาหรือรอยแตกในแบบ สะเปะ สะปะ หรือไม่ แต่ถ้าพบว่ามีรอยร้าวเอียง ทแยงมุมจากเสาถึงคาน หรือ จากพื้นถึงคาน หรือรอยร้าวในแนวดิ่งจากพื้นถึงคาน ควรหาวิศวกรโยธามาตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างและส่วนประกอบหลัก ๆ ของบ้านยังแข็งแรงอยู่เพราะลักษณะการแตกร้าวดังกล่าวถือว่าอยู่ในขั้นก่อให้ เกิดอันตรายได้ครับ

การเลือกซื้อบ้านมือสองนั้นมีข้อควรระวังซึ่ง ถือว่าเป็นหัวใจหลักของการ พิจารณาเลือกซื้อบ้านมือสอง นั่นคือ การตรวจสอบรอยร้าวในคานและเสา อันเป็นโครงสร้างส่วนที่สำคัญที่สุดเรื่องความทนทาน แข็งแรงของอาคารบ้านเรือน หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีรอยร้าวในคานและเสาเกิดขึ้นก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตกใจ นะครับ ตั้งสติให้มั่นแล้วดูว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นรอยร้าวประเภทใด ถ้าเป็นรอยร้าวเล็ก ๆ สั้น ๆ หรือรอยร้าวคล้าย ๆ รอยบนหลังเต่า ก็จงเข้าใจว่าสาเหตุของรอยร้าวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากปูนที่ใช้ฉาบระหว่างการ ก่อสร้าง ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อความแข็งแรงหรือรากฐานความมั่นคงของบ้านแต่อย่างใด แต่ถ้ารอยร้าวนั้นเป็นรอยร้าวในแนวดิ่งที่กึ่งกลางของคานบ้าน เพื่อความมั่นใจและความเป็นอยู่ที่ไม่มีผลกระทบในอนาคตก็ควรรีบปรึกษาวิศวกร โยธาครับ

ลำดับต่อมาเป็นการสังเกตดูสภาพพื้นของบ้านหลังนั้น ๆ ซึ่งในหลักการของการพิจารณานั้น บ้านมือ สองที่อยู่ในสภาพที่ดี ลักษณะของพื้นไม่ควรมีรอยร้าวเป็นแนวยาวที่กึ่งกลางของแผ่นพื้น และถ้าพื้นคอนกรีตกร่อนจนเห็นเหล็กเสริมเป็นแนวยาว มีสนิมจากเหล็กเป็นแนวยาว หรือเห็นเป็นตาราง แสดงว่าพื้นมีสภาพไม่ค่อยดี หากตรวจสอบแล้วพบว่าบริเวณพื้นนั้นแอ่นเป็นแอ่งตรงกลาง แล้วสงสัยว่าเกิดจากอะไร อย่าพิรี้พิไรยืนพิจารณาให้เสียเวลา ขอให้ลองกระโดดหรือขย่มน้ำหนักดู ถ้ารู้สึกว่าพื้นอ่อนหรือยวบลง (ไม่ใช่กระเทือนหรือกระเด้ง) แสดงว่าผิดปกติ ให้นำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษาวิศวกรโยธาก่อนตัดสินใจซื้อและเพื่อความชัดเจน ในการวิเคราะห์ก็ควรเตรียมภาพถ่ายของสถานที่ไปให้วิศวกรโยธาดูด้วย

การ ตรวจสอบระบบการใช้งานของ ประปา และไฟฟ้า ภายในบ้าน ซึ่งนอกจากต้องอยู่ในสภาพการใช้งานได้ดีแล้ว เรื่องของความปลอดภัยก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นจึงมีวิธีการตรวจสอบความพร้อมของระบบภายในเหล่านี้ โดยต้องเริ่มจากการตรวจสอบที่บริเวณผนังของบ้านและใต้ท้องพื้น หรือ เพดานใต้ห้องน้ำว่ามีการรั่วหรือซึมของน้ำหรือไม่ วิธีการนั้นให้ตรวจสอบจากการลองปิดก๊อกทุกตัวภายในบ้านแล้วเช็คที่มิเตอร์ น้ำว่ายังเดินอยู่หรือไม่ ถ้าลองปิดก๊อกทุกตัวภายในบ้านแล้วมิเตอร์น้ำยังคงหมุนอยู่แสดงว่ามีน้ำรั่ว ให้รีบตรวจสอบหาจุดที่เป็นต้นเหตุของการรั่วเสียก่อน แต่ถ้าลองปิดก๊อกทุกตัวภายในบ้านแล้วกลับ ไปตรวจสอบมิเตอร์ ปรากฏว่ามิเตอร์น้ำไม่หมุน นั่นแสดงว่า ระบบของน้ำไม่เป็นปัญหาสามารถใช้งานได้ครับ ส่วนการตรวจระบบไฟฟ้า ไม่ถือเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใดหลังจากที่ลองเปิดไฟแล้วหาก สว่างใช้งานได้ทุกดวงก็ถือว่าผ่าน แต่ก็ควรตรวจสอบให้ลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือ สภาพของสายไฟหรือหม้อแปลง หรือ ทุกส่วนที่เกี่ยวกับการใช้ไฟหากเป็นสภาพที่เก่ามากแล้ว เช่น สภาพความสมบูรณ์ของสายไฟว่าเสื่อมคุณภาพหรือไม่ ฉนวนที่หุ้มอยู่ภายนอกนั้นมีลักษณะแตก กรอบ หรือไม่ เพราะถึงแม้จะยังใช้งานได้อยู่ก็ไม่ควรประมาท เสียเวลาซ่อมหรือเปลี่ยนใหม่แค่ครั้งเดียว ยังดีกว่ามานั่งเสียใจจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดภายหลังครับ

แหล่งที่มาของข้อมูล: แปลนบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น